Carl Jung นักจิตวิทยาชาวสวิสได้ค้นพบว่าเมื่อเวลาที่จิตใจของเรามีสภาพปกติและพร้อมใช้งาน เราจะมีการกระทำ 2 อย่างคือ การรับรู้ข้อมูลและการตัดสินใจ ท่ามกลางโลกภายนอก (Extraverted) และโลกภายใน (Introverted) Jung ได้จำแนกออกเป็น 8 ลักษณะของการทำหน้าที่การใช้งานการกระทำทางจิตใจให้เกิดผลสำเร็จในชีวิตประจำวัน เขาสร้าง 8 ลักษณะการทำงานเหล่านี้ควบคู่ไปกับความต่างทางด้านทัศนคติ (Attitudes) และการทำงาน (Functions)
เกี่ยวกับ ทัศนคติ (Attitudes) และการทำงาน (Functions)
ทัศนคติ (Attitudes) – Extraversion และ Introversion
ในส่วนแรกที่สร้างความแตกต่างใน 8 สมรรถนะของการรู้คิดคือ ทัศนคติ (Attitudes) ส่วนนี้จะวัดความแตกต่างในการปรับตัวและหันให้เข้ากับโลก
- Extraversion – ได้รับพลังงานจากโลกภายนอก อันได้แก่ คนรอบตัว สถานที่และสิ่งต่างๆ
- Introversion – ได้รับพลังงานจากโลกภายใน อันได้แก่ความคิดและไอเดีย
Jung เชื่อว่าการปรับตัวหรือปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับโลกคือรากฐานอันสำคัญของลักษณะทางบุคลิกภาพ พลังงานจากโลกภายนอกหรือภายในที่เราเลือกใช้เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของลักษณะบุคลิกภาพของคนใดคนหนึ่ง เราสลับทางเลือกของพลังงานทั้ง 2 นี้อยู่ทุกๆวัน สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราหรือตามที่สภาพแวดล้อมเป็นตัวกำหนด Jung เชื่อว่าคนเราทุกคนจะรู้สึกเหมือนได้อยู่ในบ้านหรือเป็นที่ที่เราสบายใจมากที่สุดก็ต่อเมื่อเราได้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบ Extraversion หรือ Introversion อันใดอันหนึ่ง
การทำงาน (Functions) – Perceiving และ Judging
จากการที่ Jung คอยเฝ้าสังเกตคนจำนวนมากเป็นเวลานาน เขาพบว่าเพียงแค่เรื่องของการเลือกใช้ทางเลือกพลังงานอย่างเดียวนั้นไม่สามารถอธิบายความแตกต่างทางบุคลิกภาพที่มีอยู่มากมายได้
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงสร้าง 2 ความแตกต่างของการกระทำทางจิตใจที่ใช้ในการรับรู้หรือเข้าใจในข้อมูล (Perceiving Functions) อันได้แก่ ใช้ประสาทสัมผัส (Sensing) และ ใช้สัญชาตญาณ (Intuition)
- Sensing – กระบวนการในการสะสมและรับรู้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรมโดยการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5
- Intuition – กระบวนการในการรับรู้ข้อมูลโดยการเชื่อมความเกี่ยวข้องหรืออนุมานความหมายซึ่งจะลึกไปกว่าการใช้แค่ประสาทสัมผัสทั้ง 5
Jung ยังได้สร้างความแตกต่างของการกระทำทางจิตใจที่ใช้ในเวลาที่จะตัดสินใจ (Judging Functions) อีกด้วย อันได้แก่ ใช้ความคิด (Thinking) และ ใช้ความรู้สึก (Feeling)
- Thinking – กระบวนการตัดสินใจหรือประเมินข้อมูลโดยการใช้ความมีเหตุผล การคิดวิเคราะห์เป็นเกณฑ์
- Feeling – กระบวนการตัดสินใจหรือประเมินข้อมูลโดยการคำนึงถึงอะไรที่สำคัญสำหรับตัวเราและคนอื่น
ในส่วนของหัวข้อ การทำงาน (Functions) นี้จึงมีทั้งหมด 4 แบบ (Sensing/Intuition/Thinking/Feeling) ทั้ง 2 การกระทำทางจิตใจนี้คือแกนหลักของเรื่องการทำงาน
เมื่อรวมเข้ากับทัศนคติในหัวข้อข้างบน Jung มันใจว่าพวกเรามีใจโน้มเอียงที่จะเลือกใช้หรือถนัด(จนติดเป็นนิสัย) 1 ใน 4 การกระทำทางจิตใจต่างๆเหล่านี้มากกว่าอีก 3 การกระทำทางจิตใจที่เหลือ บางคนอาจจะถนัดการใช้ Perceiving Functions มากกว่า Judging Functions แต่ในทางกลับกัน บางคนก็อาจจะถนัดการใช้ Judging Functions มากกว่า Perceiving Functions
8 สมรรถนะของการรู้คิด
Jung ค้นพบว่าพวกเราทุกคนใช้ทัศนคติระหว่าง Extraversion กับ Introversion ควบคู่ไปกับการทำงานระหว่าง Perceiving Functions หรือ Judging Functions ซึ่งแยกย่อยออกไปอีก 4 แบบเสมอ
4 แบบของการทำงาน (Sensing/Intuition/Thinking/Feeling) กับ 2 แบบของทัศนคติ (Extraverted/Introverted) เมื่อนำมารวมกัน (4×2 =8) จึงกลายเป็น 8 แบบของสมรรถนะของการรู้คิด (ต่อจากนี้จะขอเรียกสั้นๆว่า 8 การทำหน้าที่)
ในคนทุกๆคนจะมี 8 การทำหน้าที่และการทำหน้าที่ต่างๆเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในคนแต่ละคนอย่างแตกต่างกัน ทุกๆแบบบุคลิกภาพ (MBTI) จะมีการทำหน้าที่อันที่มีความเด่นที่สุด (Dominant Function – การทำหน้าที่อันหลักซึ่งแข็งแรงและเป็นธรรมชาติที่สุด) และจะมีการทำหน้าที่อันที่เป็นเหมือนส่วนเสริมหรือเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อช่วยสนับสนุนการทำหน้าที่อันหลัก (Auxiliary Function – การทำหน้าที่อันเสริมซึ่งเป็นอันที่มีความแข็งแรงรองลงมาจากการทำหน้าที่อันหลัก) นอกจากนี้ยังมี การทำหน้าที่ลำดับที่ 3 (Tertiary Function – เป็นเหมือนการทำหน้าที่ลำดับ 3 ที่ตัวเราเลือกใช้) และ การทำหน้าที่ลำดับที่ 4 (Inferior Function – การทำหน้าที่อันด้อยหรือที่ไม่ถนัด)
8 สมรรถนะของการรู้คิด เป็นเรื่องที่สำคัญมากถ้าคิดจะเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างของบุคลิกภาพแบบ MBTI ทั้ง 16 แบบ ความแตกต่างของบุคลิกภาพ 2 แบบสามารถเกิดขึ้นได้จากความต่างของตัวอักษรเพียงตัวเดียว เช่นเดียวกันกับในเรื่องของ 8 สมรรถนะของการรู้คิด เพียงแค่ตัวอักษรเดียวจาก MBTI ก็สามารถเปลี่ยนลักษณะของการใช้การทำหน้าที่อันหลัก (Dominant Function) และสิ่งที่ผู้คนกระทำและแสดงออกในเรื่องของบุคลิกภาพได้ เรื่องเกี่ยวกับ 8 สมรรถนะของการรู้คิดคือรากฐานสำคัญของ MBTI ทั้ง 16 แบบ เรามาดูกันเลยดีกว่าว่า 8 สมรรถนะของการรู้คิดนั้นมีอะไรบ้าง
Cognitive Functions | ตัวย่อ | MBTI ที่ใช้เป็นอันหลัก |
---|---|---|
Extraverted Sensing | Se | ESTP และ ESFP |
Introverted Sensing | Si | ISTJ และ ISFJ |
Extraverted Intuition | Ne | ENTP และ ENFP |
Introverted Intuition | Ni | INTJ และ INFJ |
Extraverted Thinking | Te | ESTJ และ ENTJ |
Introverted Thinking | Ti | ISTP และ INTP |
Extraverted Feeling | Fe | ESFJ และ ENFJ |
Introverted Feeling | Fi | ISFP และ INFP |
หมายเหตุ : เราสามารถเข้าใจและจดจำตัวอักษรย่อ 2 ตัวได้ง่ายๆโดยที่ไม่ต้องย้อนกลับไปดูคำเต็มบ่อยๆ ตัวอักษรแรก (ตัวพิมพ์ใหญ่) ตัว S/N/T/F มาจาก Sensing/Intuition/Thinking/Feeling ตามลำดับ และตัวอักษรที่สอง (ตัวพิมพ์เล็ก) ตัว e และ i มาจาก Extraverted และ Introverted ตามลำดับ
เข้าใจการทำงานของทั้ง 8 แบบ
Extraverted Sensing (Se) – เมื่อใดที่คุณสนใจเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นๆผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 นำมาประมวลผลเป็นโลกแห่งความจริง เป็นการประมวลผลที่เกิดขึ้นทันทีทันใด เช่น ถ้าคุณได้ยินเสียงนกร้องมาจากข้างนอก นั่นแปลว่าสมองของคุณกำลังใช้การทำทำหน้าที่แบบ Extraverted Sensing ในการรับฟังเสียงนก
Introverted Sensing (Si) – เมื่อใดที่คุณสนใจเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นที่ถูกเก็บรวบรวมอยู่ในความทรงจำหรือประสบการณ์มากกว่าที่จะสนใจสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้นๆ เช่น ในเวลาที่เรานึกถึงเสียงนกร้องเมื่อสัปดาห์ก่อนขึ้นมาได้
Extraverted Intuition (Ne) – เมื่อใดที่คุณมองเห็นความเป็นไปได้หลายๆทางในอนาคต จะเกิดขึ้นในตอนที่คุณกำลังใช้การระดมสมองอย่างรวดเร็ว เป็นการมองเห็นถึงความเกี่ยวข้องหรือความสัมพันธ์ระหว่างคนและเหตุการณ์ต่างๆ
Introverted Intuition (Ni) – เมื่อใดที่คุณได้ข้อสรุปหรือเข้าใจอะไรบางอย่างอย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งก็ไม่สามารถหาที่มาที่แน่ชัดของการเข้าใจนี้ได้ หรือเปรียบง่ายๆก็คือถ้าเรามีช่วงเวลาที่พูดออกมาว่า “อย่างนี้นี่เอง” (ถ้านึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงการ์ตูนหรือหนังนักสืบในเวลาที่นักสืบเข้าใจถึงกลอุบายของคนร้าย)
Extraverted Thinking (Te) – เมื่อใดที่คุณกำลังทำการตัดสินใจเกี่ยวกับโลกภายนอกโดยใช้ข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สิ่งที่คุณคิดหรือเข้าใจเป็นการส่วนตัว
Extraverted Feeling (Fe) – เมื่อใดที่คุณกำลังทำการตัดสินใจโดยใช้ค่านิยมในสังคมเป็นหลัก ซึ่งจะคำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีของคน ค่านิยมหล่านี้เป็นสิ่งที่คนทั้งหมดสนใจหรือมีความเกี่ยวข้องกับด้านวัฒนธรรมมากกว่าที่จะสนใจค่านิยมส่วนตัวของตนเอง
Introverted Thinking (Ti) – เมื่อใดที่คุณตัดสินใจโดยใช้ข้อมูล, ประเภท/การแยกแยะ และทฤษฎีต่างๆที่อยู่ในหัวของคุณเป็นหลัก
Introverted Feeling (Fi) – เมื่อใดที่คุณตัดสินใจโดยใช้ค่านิยมส่วนตัว ซึ่งจะคำนึงถึงสิ่งต่างๆที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวของคุณคนเดียวมากกว่าที่จะคำนึงถึงผู้อื่น
ตารางการเปรียบเทียบการทำหน้าที่ของ MBTI ทั้ง 16 แบบ
MBTI | Dominant (หลัก) | Auxiliary (เสริม) | Tertiary (3) | Inferior (4) |
---|---|---|---|---|
INTP | Introverted Thinking | Extraverted Intuition | Introverted Sensing | Extraverted Feeling |
ISTP | Introverted Thinking | Extraverted Sensing | Introverted Intuition | Extraverted Feeling |
ENTP | Extraverted Intuition | Introverted Thinking | Extraverted Feeling | Introverted Sensing |
ENFP | Extraverted Intuition | Introverted Feeling | Extraverted Thinking | Introverted Sensing |
ISFP | Introverted Feeling | Extraverted Sensing | Introverted Intuition | Extraverted Thinking |
INFP | Introverted Feeling | Extraverted Intuition | Introverted Sensing | Extraverted Thinking |
INTJ | Introverted Intuition | Extraverted Thinking | Introverted Feeling | Extraverted Sensing |
INFJ | Introverted Intuition | Extraverted Feeling | Introverted Thinking | Extraverted Sensing |
ESTJ | Extraverted Thinking | Introverted Sensing | Extraverted Intuition | Introverted Feeling |
ENTJ | Extraverted Thinking | Introverted Intuition | Extraverted Sensing | Introverted Feeling |
ESFJ | Extraverted Feeling | Introverted Sensing | Extraverted Intuition | Introverted Thinking |
ENFJ | Extraverted Feeling | Introverted Intuition | Extraverted Sensing | Introverted Thinking |
ISTJ | Introverted Sensing | Extraverted Thinking | Introverted Feeling | Extraverted Intuition |
ISFJ | Introverted Sensing | Extraverted Feeling | Introverted Thinking | Extraverted Intuition |
ESTP | Extraverted Sensing | Introverted Thinking | Extraverted Feeling | Introverted Intuition |
ESFP | Extraverted Sensing | Introverted Feeling | Extraverted Thinking | Introverted Intuition |
การต่อยอดของ John Beebe
John Beebe เป็นหนึ่งในนักวิเคราะห์งานของ Carl Jung คนสำคัญ เขาได้พัฒนางานของ Jung ไปอย่างมาก ในเรื่องของ 8 สมรรถนะของการรู้คิดนี้ก็เช่นกัน เขาได้เพิ่มการทำหน้าที่ส่วนที่เป็นเหมือนเงา (Shadow Functions) ไปอีก 4 การทำหน้าที่ โดยจะเรียงต่อจากการทำหน้าที่หลัก, เสริม และที่ 3 กับที่ 4 โดยยึดการทำหน้าที่ตั้งแต่ลำดับ 1-4 เป็นหลักแต่จะสลับด้านระหว่าง Extraverted หรือ Introverted แทน เช่น INTJ มีการทำหน้าที่อันหลักเป็น Introverted Intuition การทำหน้าที่ลำดับ 5 ของ INTJ ก็เลยเป็น Extraverted Intuition การทำหน้าที่อันเสริมของ INTJ คือ Extraverted Thinking การทำหน้าที่ลำดับ 6 ของ INTJ ก็เลยเป็น Introverted Thinking เป็นต้น
ทำให้ตอนนี้เราสามารถนำการทำหน้าที่ทั้งหมดที่มีมาเรียงลำดับการเลือกใช้การทำหน้าที่ต่างๆของแต่ละบุคลิกภาพได้ถึง 8 ลำดับ การทำหน้าที่แบบเงาเป็นการทำหน้าที่ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างที่เราอยู่ในภาวะที่ขาดสติ ซึ่งตรงจุดนี้หมายถึงการที่จิตใจเข้าสู่ภาวะการนึกคิดไปตามจิตใต้สำนึก มันพร้อมจะรับรู้และประมวลผลข้อมูลในด้านลบเข้ามายังจิตใจของคุณได้ทุกเมื่อโดยที่คุณไม่รู้ตัว และคุณจะไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือการทำหน้าที่ส่วนที่เป็นเงาได้ถ้าหากมันอยู่ในช่วงที่กำลังทำงาน พวกการทำหน้าที่แบบเงานี้มันพร้อมจะสร้างปัญหาให้คุณได้เสมอถ้าหากคุณมีความเครียดหรือความทุกข์ใจ อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ที่เป็นเงาเหล่านี้ มันอาจจะมีประโยชน์ในทางบวกสำหรับคุณบ้างสักนิด ถ้าหากเราเปิดใจที่จะรับมือและเข้าใจมัน
ตารางการเปรียบเทียบการทำหน้าที่แบบเงาของ MBTI ทั้ง 16 แบบ
MBTI | Opposing (5) | Critical Parent (6) | The Trickster (7) | Demonic (8) |
---|---|---|---|---|
INTP | Extraverted Thinking | Introverted Intuition | Extraverted Sensing | Introverted Feeling |
ISTP | Extraverted Thinking | Introverted Sensing | Extraverted Intuition | Introverted Feeling |
ENTP | Introverted Intuition | Extraverted Thinking | Introverted Feeling | Extraverted Sensing |
ENFP | Introverted Intuition | Extraverted Feeling | Introverted Thinking | Extraverted Sensing |
ISFP | Extraverted Feeling | Introverted Sensing | Extraverted Intuition | Introverted Thinking |
INFP | Extraverted Feeling | Introverted Intuition | Extraverted Sensing | Introverted Thinking |
INTJ | Extraverted Intuition | Introverted Thinking | Extraverted Feeling | Introverted Sensing |
INFJ | Extraverted Intuition | Introverted Feeling | Extraverted Thinking | Introverted Sensing |
ESTJ | Introverted Thinking | Extraverted Sensing | Introverted Intuition | Extraverted Feeling |
ENTJ | Introverted Thinking | Extraverted Intuition | Introverted Sensing | Extraverted Feeling |
ESFJ | Introverted Feeling | Extraverted Sensing | Introverted Intuition | Extraverted Thinking |
ENFJ | Introverted Feeling | Extraverted Intuition | Introverted Sensing | Extraverted Thinking |
ISTJ | Extraverted Sensing | Introverted Thinking | Extraverted Feeling | Introverted Intuition |
ISFJ | Extraverted Sensing | Introverted Feeling | Extraverted Thinking | Introverted Intuition |
ESTP | Introverted Sensing | Extraverted Thinking | Introverted Feeling | Extraverted Intuition |
ESFP | Introverted Sensing | Extraverted Feeling | Introverted Thinking | Extraverted Intuition |
การใจถึงบทบาทของแต่ละการทำหน้าที่
การทำหน้าทั้ง 8 แบบมีบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกันไปดังนี้
การทำหน้าที่ลำดับ 1 – บทบาท Hero / Heroine
การทำหน้าที่ที่แข็งแรงที่สุด จะอยู่ในบทบาทของ Hero/Heroine (ฮีโร่/วีรสตรี) ซึ่งก็คือการทำหน้าที่หลัก (Dominant Function) นั่นเอง ฟังจากชื่อเรียกก็คงจะพอเดาออกบ้างแล้วใช่มั้ยครับ ว่ามันเป็นการทำหน้าที่ที่ช่วยเราให้ประสบความสำเร็จหลายๆอย่าง ช่วยให้เรารับมือและแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายให้ดีขึ้น
เมื่อพิจารณาถึงสิ่งต่างๆในชีวิตเรา เวลาใดที่มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากหรือได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่สุดๆ จนประสบความสำเร็จจากการที่ทำงานเป็นอย่างหนัก นั่นเป็นผลมาจากการทำหน้าที่ของ Hero / Heroine นั่นเองที่ช่วยเราแบกรับและดำเนินทำสิ่งต่างๆให้เกิดผลสำเร็จ
การทำหน้าที่ลำดับ 2 – บทบาท Auxiliary / Supportive / Parent
นี่เป็นการทำหน้าที่ที่แข็งแรงที่สุดรองลงมาจากการทำหน้าที่แรก ซึ่งก็คือการทำหน้าที่อันเสริม (Auxiliary Function) นั่นเอง มันช่วยสนับสนุนการทำหน้าที่แบบ Hero/Heroine โดยทั้งการทำหน้าที่ลำดับ 1 และการทำหน้าที่อันนี้ก็เป็น 90% ของบุคลิกภาพเราแล้ว
บางทีการทำหน้าที่อันนี้ก็ถูกเรียกว่าเป็นผู้ปกครอง (Parent) เพราะว่าการทำหน้าที่อันนี้มันถูกใช้ในแนวๆการช่วยเหลือคนอื่นหรือการสนับสนุนผู้อื่น
ตามที่ John Beebe ค้นพบ เมื่อเราเอื้อมมือเข้าไปช่วยเหลือใครสักคน เราจะเริ่มต้นการช่วยเหลือนี้จากการทำหน้าที่ลำดับ 2
การทำหน้าที่ลำดับ 3 – บทบาท Tertiary / Relief
การทำหน้าที่อันใดก็ตามที่อยู่ในบทบาทของ Tertiary/Relief จะเป็นการทำหน้าที่อันที่อ่อนแอและสร้างปัญหาเสมอ
การทำหน้าที่อันนี้จะไม่พัฒนาจนกว่าจะถึงช่วงวัยกลางคน เนื่องมาจากมันถูกใช้งานน้อยมากๆ และถ้าหากคุณมีความจำเป็นต้องใช้การทำหน้าที่อันนี้ในระหว่างช่วงที่คุณเป็นวัยรุ่นหรืออยู่ในช่วงกลางของอายุเลข 2 คุณจะพบกับความผิดพลาดและความล้มเหลวอย่างแน่นอน
แน่นอนว่าคุณไม่สามารถไว้ใจในการทำหน้าที่ลำดับ 3 ได้อย่างที่คุณทำในการทำหน้าที่ลำดับ 1 และ 2
นักจิตวิทยาแนะนำว่าคุณควรจะใช้การทำหน้าที่บทบาท Tertiary/Relief ในเรื่องเกี่ยวกับการผ่อนคลาย, การเล่นสนุก, การพักผ่อนหย่อนใจ หรืออะไรก็ได้ที่ไร้ความเครียด ดังนั้นอีกชื่อหนึ่งของบทบาทนี้นอกจากที่แปลว่าลำดับที่ 3 (Tertiary) มันจึงถูกเรียกว่า Relief หรือที่แปลว่าการผ่อนคลายนั่นเอง
การทำหน้าที่ลำดับ 4 – บทบาท Inferior / Aspirational
การทำหน้าที่อันใดก็ตามที่อยู่ในบทบาทของ Inferior/Aspirational จะอ่อนแอสำหรับคุณแต่มันก็ซ่อนบางอย่างที่พิเศษดั่งชื่อบทบาทที่ว่า Aspirational แปลคร่าวๆคือที่เป็นความปรารถนา การทำหน้าที่อันนี้จะเป็นสิ่งที่คุณต้องการจะดีขึ้น
แน่นอนว่าในระหว่างช่วงที่คุณยังอายุไม่เยอะ การใช้การทำหน้าที่ลำดับ 4 จะเป็นจุดอ่อนของคุณ อาจจะพบเจอกับความผิดพลาดหรือที่ต้องอับอาย คุณคงจะไม่สามารถใช้ทักษะหรือปฏิบัติงานอะไรที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ลำดับ 4 นี้ได้อย่างสบายๆ
แต่คุณจะค้นพบความน่าพึงพอใจ อาจจะเป็นความก้าวหน้าและสร้างสมดุลให้กับชีวิตของคุณ ถ้าคุณพยายามลองฝึกใช้การทำหน้าที่อันนี้อย่างเป็นระยะๆ การทำหน้าที่ลำดับ 4 ยังถูกมองว่าเป็นการทำหน้าที่ที่เปรียบเสมือนประตูการเข้าสู่จิตใต้สำนึก
มันจะเป็นเรื่องดีถ้าคุณใช้การทำหน้าที่ลำดับ 4 ในแบบที่ไร้ความกดดัน, ความเครียด และในทางที่ดีงาม เนื่องจากการทำหน้าที่ลำดับ 4 จะเป็นที่เก็บพลังงานและตัวสร้างความคิดสร้างสรรค์ที่จะมีประโยชน์ต่อคุณโดยที่คุณอาจไม่รู้สึกตัว เนื่องจากมันอาจเกิดขึ้นโดยมาจากจิตใต้สำนึกของคุณ
ดังนั้นคุณควรที่จะพยายามลองใช้การทำหน้าที่ลำดับ 4 ดูบ้าง มันจะช่วยให้คุณสามารถทำทุกสิ่งที่คุณทำได้
ต่อจากนี้ การทำหน้าที่ลำดับที่ 5 – 8 จะเป็นการทำหน้าที่ซึ่งเสมือนเงา (Shadow Functions) เป็นการทำหน้าที่ที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลาที่คุณไม่ได้สติ (Unconscious) ซึ่งมีความหมายในที่นี้คือ คุณไม่สามารถที่จะรับรู้หรือควบคุมมันได้ ตลอดจนใช้งานมันอย่างอย่างมีประสิทธิภาพ (มันคือจิตใต้สำนึกของเรานั่นเอง)
การทำหน้าที่ลำดับ 5 – บทบาท Opposing
พวกเรามักจะใช้การทำหน้าที่ลำดับ 5 ในแนวทางการป้องกันตัวเอง ตามที่ชื่อบทบาทของเรียกว่า Opposing (ที่คัดค้าน) มันเป็นสิ่งที่ทำให้คุณกลายเป็นคนดื้อดึง, ไม่เห็นด้วย, ไม่เป็นมิตร, ก้าวร้าว, ที่ชอบเถียง และที่ขัดขวาง คุณจะไม่เข้าร่วมหรือให้ความสนใจกับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในเวลานั้น
ดังนั้นลองดูการทำหน้าที่ลำดับ 5 ของ MBTI 4 ตัวของคุณสิ จากนั้นลองอ่านดูว่าการทำหน้าที่อันนั้นมันเกี่ยวกับอะไรและมันผลักดันให้คุณกลายเป็นคนที่ปกป้องตัวเองใช่หรือไม่
การทำหน้าที่ลำดับ 6 – บทบาท Critical Parent
พวกเราทุกคนเคยถูกพ่อหรือแม่ตำหนิมาแล้วทั้งนั้น มันเป็นตอนที่พ่อแม่บอกเราว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นมันผิดหรือแย่
การทำหน้าที่ในบทบาท Critical Parent จะเป็นเหมือนผู้ปกครองที่คอยตำหนิอยู่ในหัวของเรา มันจะมีผลให้เราวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองหรือผู้อื่น
การทำหน้าที่อันนี้ถูกใช้อย่างเป็นระยะๆและจะปรากฎออกมาในสถานการณ์ที่คุณมีความเครียด เช่น ในเวลาใดที่คุณมีสิ่งที่สำคัญๆตกอยู่ในความเสี่ยง, ความอันตราย หรืออะไรก็ตามที่เป็นในทางลบ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว มันก็สามารถที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การทำหน้าที่อันใดก็ตามที่อยู่ในบทบาทนี้ จะทำให้คุณได้ลิ้มรสกับการตำหนิติเตียนตัวเองอย่างแน่นอน
เพื่อที่จะเข้าถึงด้านดีของการทำหน้าที่ในบทบาทนี้ เราควรเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าและเปิดใจให้กับมัน มันอาจจะสร้างคุณภาพและสติปัญญาอย่างน่าเหลือเชื่อให้กับคุณ
การทำหน้าที่ลำดับ 7 – บทบาท The Trickster
การทำหน้าที่อันใดก็ตามที่อยู่ในการทำหน้าที่ลำดับ 7 จะสร้างความเศร้าโศกในตลอดช่วงเวลาชีวิตของคุณ
การทำหน้าที่บทบาท The Trickster จะหลอกเราและจะบิดเบือนเราในสิ่งที่เราได้พบเจอหรือที่คิดว่าเราได้สัมผัสมาให้เราเข้าใจไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมันตรงข้ามกับความเป็นจริง
Mike Shur ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประเมินผลและบุคลิกภาพได้ให้คำอธิบายไว้ว่า การทำหน้าที่ลำดับ 7 ก็เหมือนเราได้เดินผ่านบ้านอันแสนสนุกในงานรื่นเริง ข้างในมีห้องที่มีแต่กระจก มันยืดและบิดเบือนคุณ ให้คุณดูสูงและผอมกว่าสิ่งที่คุณเป็นจริงๆ
การทำหน้าที่ลำดับ 7 มักจะเกิดขึ้นบ่อยที่สุดก็ตอนที่คุณมีความเครียดหรืออยู่ภายใต้ความกดดัน ไม่ก็อยู่ในช่วงที่คุณเหนือยหนักเกินไป คุณจะไม่สามารถเชื่อในการรับรู้ข้อมูลหรือการตัดสินใจของคุณได้เลยถ้าหากอยู่ในช่วงที่การทำหน้าที่ลำดับ 7 นั้นถูกใช้งานอยู่
คุณจะมองเห็นและเชื่อสิ่งต่างๆที่มันไม่ใช่ความจริง คุณจะทำให้ตัวเองหรือคนรอบข้างตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่าง 2 ทางเลือกด้วยความจำยอม (Double Bind) เพราะไม่ว่าทางเลือกไหนก็ไม่ดีทั้งนั้น
การทำหน้าที่ลำดับ 8 – บทบาท Demonic / Transformative
การทำหน้าที่อันใดก็ตามที่อยู่ในบทบาท Demoic/Transformative จะอธิบายถึงสิ่งที่คุณมีความแย่มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ชื่อของบทบาทนี้จึงถูกเรียกว่า Demonic (ซึ่งเหมือนปีศาจ)
การทำหน้าที่ลำดับ 8 นี้นานๆทีจะสามารถเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ที่จะขับเคลื่อนคุณสู่การเจริญเติมโตที่ดีและโตเต็มวัยในด้านของบุคลิกภาพได้ ที่บอกว่านานๆทีเพราะมันยากที่เราจะพัฒนาข้อเสียอันยิ่งใหญ่ของบทบาทนี้ แต่ถ้าคุณพอที่จะแก้มันได้บ้าง มันจะช่วยให้คุณพบกับความสำเร็จได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน
แต่โดยส่วนมากถ้าสถานการณ์มันบังคับให้คุณต้องใช้การทำหน้าที่อันนี้ มันจะไม่เป็นเรื่องดีอย่างแน่นอนและคุณยังจะต้องเสียใจในภายหลังถ้าหากต้องทำอะไรที่มีความเกี่ยวข้องกับบทบาทนี้ด้วย
ตัวอย่างของข้อดี/ข้อเสีย/จุดบอดให้เห็นภาพของการทำงานชัดเจนยิ่งขึ้น
การทำหน้าที่อันที่แข็งแรงที่สุดถูกเรียกว่าการทำหน้าที่อันหลัก (Dominant Function) และโดยส่วนมากมันจะถูกพัฒนาในตั้งแต่ช่วงอายุ 13 ปี
การทำหน้าที่อันที่แข็งแรงรองลงมาถูกเรียกว่าการทำหน้าที่อันเสริม (Auxiliary Function) มันช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการทำหน้าที่อันหลักของคุณ โดยส่วนมากมันจะถูกพัฒนาในช่วงอายุ 21 ปี
เมื่อรวมการทำหน้าที่อันหลักและการทำหน้าที่อันเสริมเข้าด้วยกัน เพียงแค่ 2 การทำหน้าที่นี้ก็สามารถอธิบายถึงลักษณะบุคลิกภาพของเราได้ถึง 90% แล้ว คุณจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในอีก 6 การทำหน้าที่ที่เหลือมากนัก
อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้การทำหน้าที่อีก 6 ลำดับที่เหลือจะทำให้คุณพบกับสิ่งที่เป็นข้อเสีย ที่เป็นจุดบอดของคุณ และสิ่งที่คุณจะสามารถดีขึ้นในช่วงที่มีการเจริญเติบโตเต็มวัยในด้านของบุคลิกภาพ
การทำหน้าที่ลำดับ 3 (Tertiary Function) จะไม่เป็นการทำหน้าที่ที่แข็งแรงจนเราสามารถพึ่งพามันได้ แต่คุณสามารถพบวิธีใช้งานมันในแนวทางที่สร้างความผ่อนคลายและพักผ่อนหย่อนใจสำหรับคุณ
การทำหน้าที่ลำดับ 4 (Inferior Function) ถูกเรียกว่า Inferior (ด้อย) เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่คุณอ่อน อย่างไรก็ตาม มันคือสิ่งที่คุณจะมีการพัฒนาขึ้น เมื่อคุณมีการเจริญเติบโตทางด้านบุคลิกภาพเต็มที่
มาดูตัวอย่างกันเถอะ ในที่นี้ผมจะขอใช้ INTJ เป็นการยกตัวอย่างนะครับ เนื่องจากตัวผมเป็น INTJ
การทำหน้าที่ลำดับต่างๆ | การทำหน้าที่ที่ INTJ ใช้ในลำดับนั้นๆ |
---|---|
(1) Dominant (Hero / Heroine) | Introverted Intuition (Ni) |
(2) Auxiliary (Supporting) | Extraverted Thinking (Te) |
(3) Tertiary (Relief) | Introverted Feeling (Fi) |
(4) Inferior (Aspirational) | Extraverted Sensing (Se) |
(5) Opposing | Extraverted Intuition (Ne) |
(6) Critical Parent | Introverted Thinking (Ti) |
(7) The Trickster/Deceiving | Extraverted Feeling (Fe) |
(8) Demonic / Angelic | Introverted Sensing (Si) |
การทำหน้าที่ลำดับ 1 (บทบาทฮีโร่)
การทำหน้าที่ลำดับ 1 หรือการทำหน้าที่อันหลัก ของคนที่มีบุคลิกภาพแบบ INTJ ก็คือ Introverted Intuition หรือ Ni
การทำหน้าที่อันหลักของคนเรา จะเป็นการทำหน้าที่อันที่แข็งแรงที่สุด เป็นธรรมชาติที่สุด และถูกพัฒนามากที่สุด
เมื่อใดก็ตามที่การทำหน้าที่อันหลักของใครเป็น Introverted คนนั้นๆก็จะประพฤติตนเป็นคนที่ชอบการเก็บตัว เช่นเดียวกัน ถ้าการทำหน้าที่อันหลักของใครเป็น Extraverted คนๆนั้นก็จะประพฤติตนเป็นคนที่ชอบการเข้าสังคม
หมายเหตุ : สำหรับคนที่เป็นคนชอบการเก็บตัว (Introverted) การทำหน้าที่ลำดับ 2 หรืออันเสริมของเขาจะถูกมองเห็นได้ง่ายกว่าโดยทั้งตัวเขาเองและโดยเฉพาะคนอื่นๆ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะการทำหน้าที่อันหลักของเขาเป็น Introverted ทำให้เขาปิดโลกส่วนหนึ่งไว้กับตัวและยังไม่เปิดเผยให้คนอื่นเห็น
เมื่อคุณพบกับใครสักคนที่เป็น Introverted คุณจะพบเห็นการทำหน้าที่ลำดับ 2 ของเขาก่อน เพราะว่าเขาจะปิดความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาเอาไว้ว่าจริงๆแล้วเขามีการทำหน้าที่อันหลักเป็นแบบไหน เขาเป็นคนแบบไหน จนกว่าที่เขาจะเชื่อใจคุณเขาถึงจะแสดงมันออกมาทั้งหมด ดังนั้นนี่จึงเป็นสาเหตุให้การเข้าหาคนประเภท Introverted เป็นเรื่องยากนิดๆ
ด้วยเหตุนี้ เวลาที่คนประเภท Introverted ทำแบบประเมินเกี่ยวกับ 8 การทำหน้าที่ (8 สมรรถนะของการรู้คิด) คะแนนของการทำหน้าที่ลำดับ 2 ที่ได้เลยอาจจะเยอะกว่าคะแนนของการทำหน้าที่ลำดับ 1 เสียอีก
การทำหน้าที่ใดก็ตามที่อยู่ในการทำหน้าที่ลำดับ 1 หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ฮีโร่ของคุณ” เพราะมันช่วยให้คุณแก้ปัญหาต่างๆให้กลับกลายเป็นเรื่องดีและพบเจอกับความสำเร็จ มันเป็นการทำหน้าที่ที่คุณสามารถพึ่งพาหรือไว้ใจมันได้ตลอดเวลาและคุณก็มีความสุขที่ได้เชื่อมัน
การทำหน้าที่อันหลักโดยส่วนมากจะถูกพัฒนาในช่วงวัยเด็ก ระหว่างอายุ 13-16 ปี มันเป็นการทำหน้าที่อันเดียวที่สามารถพัฒนาได้ในช่วงวัยนี้
สำหรับ INTJ แล้ว ด้วยความที่เขามีการทำหน้าที่อันหลักเป็น Introverted Intuition (Ni) ทำให้เขามีไอเดียหรือความคิด/ข้อสรุปต่างๆมากมาย ซึ่งมันมาจากการที่อยู่ดีๆก็มีความคิดแว้บเข้ามาในหัวอย่างหาที่มาไม่ได้ และจะเป็นอย่างนี้อยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะกำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม
การทำหน้าที่ลำดับ 2 (บทบาทสนับสนุน)
การทำหน้าที่ลำดับ 2 หรือการทำหน้าที่อันเสริม เป็นการทำหน้าที่อันซึ่งแข็งแรงที่สุดรองลงมาจากการทำหน้าที่ลำดับ 1 โดยส่วนมากการทำหน้าที่อันนี้จะเริ่มพัฒนาในช่วงอายุ 21 ปี
ทั้งการทำหน้าที่ลำดับ 1 และการทำหน้าที่ลำดับ 2 ทำงานด้วยกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มันทั้ง 2 แทบจะเป็นและสามารถอธิบายบุคลิกภาพของคนใดคนหนึ่งได้กว่า 90% ไปแล้ว ในช่วงอายุ 21 ปี
ทั้ง 2 การทำหน้าที่นี้รวมเข้าด้วยกันและยากที่จะแยกมันทั้ง 2 ออกจากกัน
สำหรับ INTJ แล้ว การทำหน้าที่ลำดับ 2 ของพวกเขาก็คือ Extraverted Thinking (Te)
เมื่อใดก็ตามที่เรายื่นมือไปช่วยเหลือใคร เราจะเริ่มต้นมันจากการทำหน้าที่ลำดับ 2 ตามด้วยการทำหน้าที่ลำดับ 3 ดังนั้นเมื่อเหล่า INTJ พยายามจะช่วยเหลือใครสักคน เขาจะใช้ความเป็น Te เป็นการทำหน้าที่อันแรก เขาจะพยายามช่วยเหลือในแนวทางการจัดระเบียบโลก ทำเรื่องต่างๆอย่างที่ดูแล้วมีความเข้าท่าในโลกแห่งความจริง ใช้การกำหนด วางแผน ตั้งเป้าหมาย หรืออื่นๆอีกมากมายตามลักษณะการทำงานของการทำหน้าที่แบบ Te
การทำหน้าที่ลำดับ 3 (บทบาทผ่อนคลาย)
การทำหน้าที่ลำดับ 3 จะพัฒนาในช่วงวัยกลางคน และจะไม่มีทางเป็นการทำหน้าที่ที่แข็งแรงอย่างที่การทำหน้าที่ 2 อันแรกเป็น โดยในคนส่วนใหญ่ การทำหน้าที่ลำดับ 3 มักจะเป็นการทำหน้าที่ที่อ่อนแอ มันเป็นอะไรที่คุณไม่สามารถพึ่งพามันได้นั่นเอง
Introverted Feeling (Fi) เป็นการทำหน้าที่ลำดับ 3 สำหรับ INTJ
Fi อาจจะช่วยให้เหล่า INTJ เอาใจใส่ผู้คนรอบข้างมากขึ้น เหล่า INTJ อาจจะเป็นคนเย็นชาและดูเหินห่างจนกว่าการทำหน้าที่แบบ Fi จะพัฒนา พวกเขาอาจจะรู้สึกใส่ใจในความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น พวกเขาอาจจะทำสิ่งที่เป็นไปได้ยากในวัยเด็กหรือวัยรุ่น อันได้แก่ การมีความต้องการที่จะใช้เวลาที่มีไปกับการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น การได้ทำงานเป็นคนฝึกสอนหรืองานที่อาศัยความสมัครใจ เป็นต้น
เมื่อใดก็ตามที่คุณยื่นมือไปช่วยเหลือคน การทำหน้าที่ลำดับ 2 จะถูกใช้เป็นอย่างแรกตามมาด้วยการทำหน้าที่ลำดับ 3 ดังนั้นสำหรับเหล่า INTJ แล้ว เวลาที่เขาจะช่วยเหลือใคร การทำหน้าที่แบบ Fi จะถูกเรียกใช้ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่แบบ Te
การทำหน้าที่ลำดับ 4 (บทบาทเป็นสิ่งที่ต้องการ)
การทำหน้าที่ลำดับ 4 ถูกเรียกว่า Inferior เพราะมันไม่มีทางที่จะเป็นอะไรที่เราถนัดหรือพึ่งพาได้ แต่มันก็สามารถมีอิทธิพลทางด้านบวก
มันถูกเรียกว่าเป็นบทบาทที่เป็นความต้องการเพราะว่ามันคือสิ่งที่จะมีความหมายกับเราในตอนที่เราโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว มันเป็นสิ่งที่คุณหวังว่าคุณจะทำมันได้ดีขึ้นในอนาคต
การทำหน้าที่ลำดับ 4 ถูกขนานนามว่าเป็นประตูทางเข้าสู่ภาวะที่ขาดสติ(หมายถึงที่ไม่มีความรู้สึกตัวชั่วขณะ) ซึ่งจะมีพลังงานเก็บสะสมอยู่ ดังนั้น การเข้าถึงการทำงานลำดับ 4 สามารถนำคุณไปสู่พลังงานและแนวทางที่สร้างสรรค์ในระหว่างที่คุณกำลังคิดอะไรเพลินๆไปไกล
การทำหน้าที่ลำดับ 4 ของ INTJ คือ Extraverted Sensing (Se) การทำกิจกรรมแบบ Se จะช่วยเหล่า INTJ ผ่อนคลายและเข้าถึงพลังงาน/ไอเดียผ่านทางจิตใต้สำนึก (Unconscious)
การทำกิจกรรมในแบบของ Se ตัวอย่างเช่น การเดินป่า การปีนเขา การจ๊อกกิ้ง การขี่จักรยาน การถ่ายรูปธรรมชาติ ทำอาหาร วาดรูป เล่นเครื่องดนตรี หรือกิจกรรมใดๆก็ตามที่ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ถูกนำมาใช้
เมื่อทำกิจกรรมในแบบของ Se ในภาวะที่ไร้ความเครียด ไร้ความกดดัน เหล่า INTJ สามารถเชื่อมต่อไปยังจิตใต้สำนึกได้ และเขาอาจจะค้นพบอะไรน่าสนใจที่เป็นพลังงานให้กับเขา เป็นแรงบันดาลใจให้กับเขาในระหว่างที่เขาได้ทำกิจกรรมต่างๆเหล่านี้
อย่างที่กล่าวไปในตอนแรกว่า การทำหน้าที่ลำดับ 4 เราจะไม่มีทางถนัดมันหรือมันจะแข็งแรงเท่าการทำหน้าที่ลำดับ 1 และ 2 เหล่า INTJ คงไม่ขอพึ่งพาการทำหน้าที่แบบ Se ในการดำรงชีวิต
การทำหน้าที่ลำดับ 5 ถึง 8 (บทบาทเงา)
4 การทำหน้าที่สุดท้ายนี้จะเกิดขึ้นในจิตใต้สำนึกของเราหรือก็คือเวลาที่เกิดขึ้นตอนที่เราไม่ได้สติอยู่นั่นเอง
มันเลยหมายความว่า คุณจะไม่สามารถควบคุมมัน การทำหน้าที่เหล่านี้ยังอ่อนแอและไม่ถูกพัฒนาเนื่องจากมันไม่ค่อยถูกเรียกใช้
เมื่อคุณต้องการใช้หนึ่งในการทำหน้าที่ที่เปรียบเสมือนเงา (Shadow Functions) เหล่านี้ มันจะสร้างปัญหาให้คุณต้องปวดหัวอย่างแน่นอนเลยล่ะ
ขอให้ทราบว่าการศึกษาเจาะลึกไปยังการทำหน้าที่ลำดับ 5 ถึง 8 เป็นเรื่องที่เข้าสู่ระดับสูงแล้ว และคุณไม่จำเป็นต้องศึกษาไกลถึงขนาดนี้เพื่อที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับบุคลิกภาพก็ได้ คนหลายๆคนที่สนใจในเรื่องของบุคลิกภาพก็ไม่ค่อยอยากจะยุ่งกับเหล่าการทำหน้าที่แบบเงานี้เท่าไหร่นัก
การทำหน้าที่ลำดับ 5 (บทบาทต่อต้าน)
การทำหน้าที่อันใดก็ตามที่อยู่ในการทำหน้าที่ลำดับ 5 มันจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณดื้อดึง ไม่มีความเต็มใจที่จะทำ ตัวอย่างเช่น INTJ มีการทำหน้าที่ลำดับ 5 คือ Extraverted Intuition (Ne) พวกเขาคงจะปฏิเสธการกระทำที่มีความเกี่ยวข้องกับ Ne อย่างแน่นอน ถ้าพวกเขาทำมัน พวกเขาก็คงไม่มีความสุขแน่ๆ
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Ne ยกตัวอย่างเช่น สำรวจความเกี่ยวข้อง/ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของ, การระดมสมองหลายๆชั่วโมง และการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่กว้างขวาง เป็นต้น
การทำหน้าที่ลำดับ 6 (บทบาทวิพากษ์วิจารณ์)
การทำหน้าที่ลำดับ 6 เป็นการทำหน้าที่ที่จะทำให้คุณต้องวิพากษ์วิจารณ์ทั้งตัวเองและผู้อื่นมากเกินไป และมันเป็นสิ่งที่คุณอ่อนแออีกด้วย คุณต้องใช้พลังงานอย่างหนักเพื่อที่จะใช้การทำหน้าที่อันนี้
สำหรับ INTJ แล้ว การทำหน้าที่ลำดับ 6 ของพวกเขาคือ Introverted Thinking (Ti) ตัวอย่างกิจกรรมแบบ Ti ได้แก่ การวิเคราะห์และแยกแยะไอเดียและแนวคิด การใช้ทฤษฏีที่ซับซ้อน การสร้างทฤษฎีใหม่ๆ เป็นต้น ถ้าเหล่า INTJ ต้องทำการกระทำแบบนี้ พวกเขาจะต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษ
การทำหน้าที่ลำดับ 7 (บทบาทผู้หลอกลวง)
การทำหน้าที่ลำดับ 7 ก็เป็นสิ่งที่อ่อนแอมากๆสำหรับคุณเช่นกัน มันจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณมองเห็นหรือคิดบิดเบือนไป
INTJ ที่มีการทำหน้าที่ลำดับ 7 เป็น Extraverted Feeling (Fe) ซึ่งการทำหน้าที่แบบ Fe จะต้องเชื่อมต่อและเข้าหาผู้คนภายนอก อ่านใจคน เข้าใจอารมณ์และสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้อื่น
ดังนั้นเหล่า INTJ ส่วนใหญ่จึงค่อนข้างมีปัญหากับในเรื่องของความสัมพันธ์ พวกเขาไม่เก่งในการอ่านใจคน พวกเขามีเวลาที่ยากลำบากในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ความสัมพันธ์ของเขาสามารถพบเจอกับความบิดเบือนและสิ่งที่ทำให้สับสนได้ นี่คืออุปสรรค์อย่างหนึ่งที่เหล่า INTJ ต้องเผชิญหน้าและฝ่าฟันเพื่อให้ความสัมพันธ์กับคนสำคัญราบรื่น
การทำหน้าที่ลำดับ 8 (บทบาทวายร้าย)
การทำหน้าที่ลำดับ 8 เปรียบเหมือนเป็นปีศาจและนักทำลาย การทำหน้าที่อันใดก็ตามที่อยู่ในส่วนของการทำหน้าที่ลำดับ 8 ไม่เพียงแต่มันจะอ่อนแอและพึ่งพาไม่ได้ แต่มันยังจะสร้างปัญหาที่จะทำให้คุณต้องเสียใจอีกด้วย
ยกตัวอย่าง INTJ การทำหน้าที่ลำดับ 8 ของเขาคือ Introverted Sensing (Si) ตัวอย่างกิจกรรมแบบ Si ได้แก่การเรียกความทรงจำของเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านตาเรามาในอดีต การดึงความทรงจำของข้อมูลเช่น ลักษณะหน้าตา ชื่อ วันที่ เบอร์โทรศัพท์/ตัวเลข ฯลฯ ไม่เพียงแต่เหล่า INTJ จะไม่สามารถดึงความทรงจำเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำแล้ว แต่พวกเขาอาจจะนึกไม่ออกเลยสักนิดหรือลืมไปเลยด้วยซ้ำ งานที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดหรือข้อมูลก็เลยเป็นงานหินสำหรับ INTJ เป็นอย่างมากเช่นกัน
โดยส่วนตัวอย่างที่รู้ๆกันว่าผมเป็น INTJ ผมมีประสบการณ์การที่ได้สัมผัสกับข้อเสียของการทำหน้าที่ที่อยู่ในลำดับ 8 มาแล้วอย่างหนัก คือในตอนที่มีคนถามผมว่า “ทานเข้าเช้ากับอะไร” โดยถามในระหว่างตอนเย็น เชื่อมั้ยว่ามีบางทีที่ผมนึกไม่ออกและไม่สามารถดึงความทรงจำมาได้เลย จนผมยังงงตัวเองว่าทำไมแค่นี้ถึงนึกไม่ออกกันนะ
ตารางการทำหน้าที่แบบรวมทั้ง 8 ลำดับของแต่ละ MBTI
MBTI/ลำดับ | (1) | (2) | (3) | (4) | (5) | (6) | (7) | (8) |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
INTP | Ti | Ne | Si | Fe | Te | Ni | Se | Fi |
ISTP | Ti | Se | Ni | Fe | Te | Si | Ne | Fi |
ENTP | Ne | Ti | Fe | Si | Ni | Te | Fi | Se |
ENFP | Ne | Fi | Te | Si | Ni | Fe | Ti | Se |
ISFP | Fi | Se | Ni | Te | Fe | Si | Ne | Ti |
INFP | Fi | Ne | Si | Te | Fe | Ni | Se | Ti |
INTJ | Ni | Te | Fi | Se | Ne | Ti | Fe | Si |
INFJ | Ni | Fe | Ti | Se | Ne | Fi | Te | Si |
ESTJ | Te | Si | Ne | Fi | Ti | Se | Ni | Fe |
ENTJ | Te | Ni | Se | Fi | Ti | Ne | Si | Fe |
ESFJ | Fe | Si | Ne | Ti | Fi | Se | Ni | Te |
ENFJ | Fe | Ni | Se | Ti | Fi | Ne | Si | Te |
ISTJ | Si | Te | Fi | Ne | Se | Ti | Fe | Ni |
ISFJ | Si | Fe | Ti | Ne | Se | Fi | Te | Ni |
ESTP | Se | Ti | Fe | Ni | Si | Te | Fi | Ne |
ESFP | Se | Fi | Te | Ni | Si | Fe | Ti | Ne |
รายละเอียดอย่างเจาะลึกของแต่ละสมรรถนะของการรู้คิด
นี่คือรายละเอียดค่อนข้างลึกเกี่ยวกับแต่ละการทำหน้าที่ (8 สมรรถนะของการรู้คิด) ขอให้ทราบว่า ถ้าหากในรายละเอียดของแต่ละแบบมีการใช้คำว่า “คุณ” หรือคำอื่นๆที่อ้างอิงไปถึงใครก็ตาม มันคือการกล่าวถึงผู้คนที่มีการทำหน้าที่อันหลัก (Dominant Function) หรืออย่างน้อยการทำหน้าที่อันเสริม (Auxiliary Function) เป็นการทำหน้าที่ในแบบนั้นๆ เช่น ถ้าในรายละเอียดของ Extraverted Sensing (Se) กล่าวไว้ว่า คนแบบ Se ชอบทำกิจกรรม คำว่า “คน” ในที่นี้หมายถึงใครก็ตามที่มีการทำหน้าที่อันหลัก(หรืออย่างน้อยอันเสริม) เป็นการทำหน้าที่แบบ Se นั่นเอง คุณจะสามารถรู้ได้ว่าคุณมีการทำหน้าที่ลำดับต่างๆเป็นแบบไหนบ้าง เมื่อคุณรู้ว่าคุณมี MBTI (ตัวอักษร 4 ตัว) เป็นแบบไหน แต่ถ้าคุณยังไม่รู้ MBTI ของตัวเอง ให้คลิ๊กที่หน้า แบบทดสอบ เพื่อค้นหา MBTI ของคุณ
Extraverted Sensing (Se)
Se เป็นการทำหน้าที่ที่จะสร้างความตระหนักรู้ต่อโลกภายนอกให้กับคุณ คุณจะชอบแรงกระตุ้นและการกระทำที่น่าตื่นเต้นในช่วงเวลาปัจจุบัน คุณจะทำสิ่งต่างๆทันทีโดยใช้ประสบการณ์ที่คุณพบเจอมาเป็นพื้นฐาน คุณตื่นตาตื่นใจกับการได้มองเห็น ได้รับรู้กลิ่น ได้ยินเสียง ได้สัมผัส ได้รับรสชาติ คุณใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานจนสุดขอบเขตด้วยการได้ทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ในโลกรอบๆตัวเรา คุณจะรับรู้ถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณแทบทั้งหมดและตลอดเวลา ชอบอยู่กับปัจจุบัน ไม่ชอบคิดเกี่ยวกับอดีตและอนาคต คุณอาจจะต้องระวังตัวไว้นิดหน่อยว่า คนอื่นๆไม่ได้คิดแบบเดียวอย่างที่คุณคิด เฉพาะคนที่มีการทำหน้าที่อันหลักหรืออันเสริมที่เป็น Se เท่านั้นที่จะคิดแบบเดียวกับคุณ คุณอาจจะมีความเก่งในกิจกรรมทางกายภาพบางอย่าง เช่น การเต้น, เล่นกีฬา เป็นต้น คุณมีพลังงานเป็นอย่างมาก จนคนอื่นอาจจะต้องถามคุณประมาณว่า “ยังไม่เหนื่อยอีกเหรอ?” คุณชอบที่จะได้ออกไปทำสิ่งต่างๆทั้งวัน การที่ต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ เช่น บนเครื่องบิน, โต๊ะทำงาน จะทำให้คุณรู้สึกแย่มาก เมื่อใดที่กิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับ Se (ที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5) จบลงคุณคงรู้สึกเบื่อหน่ายหรือง่วงนอนทันที ลองนึกภาพถึงทหารหรือนักสืบที่ต้องเข้าไปอยู่ในห้องมืดๆ ซึ่งอาจจะโดนศัตรูโจมตีได้ตลอดเวลา พวกเขาต้องระวังตัวทุกฝีก้าวเดิน ตั้งใจฟังเสียงที่เบาที่สุดเท่าที่จะสามารถได้ยินของสิ่งรอบตัวว่ามีอะไรที่เคลื่อนไหวอยู่มั้ย นี่แหละคืออะไรที่ Se มีความเก่งมากที่สุด
การฝึกบริหาร 8 สมรรถะของการรู้คิด
คุณอาจจะต้องการทดลองฝึกใช้การทำหน้าที่ต่างๆทั้ง 8 แบบนี้ใช่ไหม นี่คือรายละเอียดของการฝึกบริหารการใช้การทำหน้าที่ทั้ง 8 ที่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการปฏิบัติได้พัฒนาเพื่อที่จะช่วยคนให้เข้าใจถึงการทำงานของการทำหน้าที่ทั้ง 8 ตลอดจนช่วยให้พวกเขาฝึกและพัฒนาการทำหน้าที่ส่วนที่เป็นเงา (Shadow Functions) ของแต่ละคน
เมื่อรู้ถึงรายละเอียดและจุดที่อาจจะสร้างข้อเสียของเราได้แล้ว เรามาลองฝึกบริหารการใช้ทั้ง 8 สมรรถนะของการรู้คิดกันเถอะ ในระหว่างการฝึก คุณจะต้องเลือกวัตถุอะไรก็ได้มา 1 อย่าง ดินสอ, ส้ม, ขวดน้ำ, ลูกอม ฯลฯ
Extraverted Sensing (Se) – สำรวจวัตถุที่คุณได้เลือกมาด้วยประสามสัมผัสทั้ง 5 โดยการ มองไปที่วัตถุ, ลองชิมรสชาติ (ถ้ามันกินได้นะ), ดมกลิ่นของมัน, ลองเคาะมันดูสิว่ามันมีเสียงมั้ยแล้วอย่างไร
Introverted Sensing (Si) – ถือวัตถุนั้นแล้วก็คิดถึงประสบการณ์ที่คุณเคยมีกับมันสิ มันคล้ายกับอะไรอย่างอื่นที่คุณนึกได้อีกไหม มันเป็นอย่างไร คุณเคยใช้มันอย่างไรบ้าง มันเกิดขึ้นในเวลาใด แล้วใครเป็นคนทำ เป็นต้น
Extraverted Intuition (Ne) – ไปพูดคุยกับใครก็ได้เกี่ยวกับวัตถุที่คุณได้เลือกมาว่าคุณสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง เอาเฉพาะสิ่งที่คุณไม่เคยทำกับมันมาก่อน
Introverted Intuition (Ni) – ลองหลับตาลงแล้วคิดดูสิว่าวัตถุนั้นมันมีความหมายต่อคุณอย่างไร มันเป็นสัญลักษณ์ของอะไร
Extraverted Thinking (Te) – ให้คุณนึกถึงความแตกต่างของวัตถุโดยการใช้เกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมในการตัดสินเท่านั้น จากนั้นลองถามคนอื่นเกี่ยวกับเกณฑ์ที่คุณใช้ดูสิ ว่าเขาคิดเหมือนกับเราไหม ถ้าไม่เขาคิดว่าอย่างไร
Introverted Thinking (Ti) – ให้คุณนึกถึงวัตถุหลายๆอย่างที่คุณมี จากนั้นลองจัดหมวดหมู่ให้กับมันภายในใจคุณ แบ่งมันเป็น 2 กลุ่มหลักๆ จากนั้นลองเขียนสิ่งต่างๆที่คุณจัดแล้วพิจารณาดูว่ามีวัตถุไหนที่ซ้อนหมวดหมู่กันหรือไม่
Extraverted Feeling (Fe) – ทำอะไรให้ใครก็ได้ที่จะช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นโดยใช้วัตถุที่คุณได้เลือกมา
Introverted Feeling (Fi) – หลับตาลงและลองคิดดูสิว่าวัตถุที่คุณเลือกมานั้นมันสะท้อนให้คุณเห็นอะไรบางอย่างที่สำคัญกับคุณมากๆมั้ย