ในส่วนนี้จะเป็นการอธิบายเกี่ยวกับการพัฒนาและเจริญเติบโตทางด้านบุคลิกภาพของ ISFP โดยใช้พื้นฐานของ 8 การทำหน้าที่ทางด้านจิตใจหรือ 8 สมรรถนะของการรู้คิด (8 Cognitive Functions)
ลำดับของการทำหน้าที่ | การทำหน้าที่ของ ISFP | ช่วงอายุที่เริ่มพัฒนา |
---|---|---|
Dominant Function การทำหน้าที่อันหลัก | Introverted Feeling | 13 ปี - วัยหนุ่มสาว |
Auxiliary Function การทำหน้าที่อันเสริม | Extraverted Sensing | วัยหนุ่มสาว - 30 ปี |
Tertiary Function การทำหน้าที่ลำดับ 3 | Introverted Intuition | 30 ปี - วัยกลางคน |
Inferior Function การทำหน้าที่ลำดับ 4 | Extraverted Thinking | วัยกลางคนขึ้นไป |
ช่วงวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาว : การพัฒนาของ Introverted Feeling
ในตอนเป็นเด็กๆ ISFP จะเริ่มพัฒนาการทำหน้าที่อันหลัก (Dominant Function) แบบ Introverted Feeling
พวกเขาจะกลายเป็นเด็กที่อ่อนไหวง่ายและไวต่อความรู้สึกมากและ ISFP ยังจะได้รับผลกระทบเต็มๆถ้าต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความขัดแย้งหรือทะเลาะกัน
ISFP อาจจะกระทำสิ่งที่เป็นการให้บริการหรือการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นในทั้งที่บ้านและในห้องเรียน ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการได้รับความเห็นดีเห็นชอบและการให้กำลังใจจากคุณครู, เพื่อน หรือพ่อแม่ นอกจากนี้ยังเป็นคนที่แสดงออกทางอารมณ์ได้มาก จะหัวเราะหรือร้องไห้ได้ง่าย
ถ้าในตอนเด็กๆพวกเขาไม่ได้พัฒนาการทำหน้าที่อันนี้อย่างถูกต้อง พวกเขาอาจจะเป็นคนที่สนใจอยู่แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันโดยที่ไม่รู้วิธีการสร้างการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ
ช่วงวัยหนุ่มสาวจนถึงอายุ 30 ปี : การพัฒนาของ Extraverted Sensing
ในช่วงวัยหนุ่มสาว ISFP จะเริ่มพัฒนาการทำหน้าที่อันเสริม (Auxiliary Function) แบบ Extraverted Sensing
ISFP จะกลายเป็นคนที่ชอบสังเกตโลกภายนอกรอบๆตัวอย่างสุดๆ พวกเขาจะสังเกตรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่น สีสัน, รูปร่าง, กลิ่น, รสชาติ เป็นต้น ชอบใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการทำสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะการชื่นชมสุนทรียภาพความงามของสิ่งต่างๆ
ISFP จะเริ่มแสดงออกถึงการชอบทำกิจกรรมหรือเล่นเกมมากกว่าที่จะอ่านหนังสือหรือนั่งฟังครูสอนในห้องเรียน ซึ่งถ้าพวกเขาจะต้องนั่งอยู่ในชั้นเรียนนานๆคงจะรู้สึกเบื่อ ISFP จะทำได้ดีในสิ่งที่ต้องใช้มือทั้ง 2 ข้างลงมือปฏิบัติและอาจจะพบความยากลำบากในสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือทฤษฎี
ถ้า ISFP คนใดที่ไม่ได้พัฒนาการทำหน้าที่อันนี้อย่างถูกต้อง พวกเขาจะไม่รู้วิธีในการรวบรวมข้อมูลที่มาจากโลกภายนอกและนำมันไปใช้ในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด
สิ่งที่ ISFP ควรจะปรับปรุงให้ดีขึ้น
ถ้าสภาพแวดล้อมรอบๆตัวเป็นธรรมชาติและไม่มีตัวขัดขวางการเจริญเติบโตทางบุคลิกภาพให้ดำเนินไปอย่างผิดปกติ เหล่า ISFP ส่วนใหญ่น่าจะได้พัฒนาทั้ง Introverted Feeling และ Extraverted Sensing ตั้งแต่ในช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป ในฐานะของการทำหน้าที่อันหลักและอันเสริมซึ่งจะอธิบายบุคลิกภาพของ ISFP ไปแล้วกว่า 90%
นี่คือตัวอย่างขอบเขตสำหรับ ISFP ที่ควรจะพัฒนาหรือฝึกใช้ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากการทำหน้าที่อันที่ที่ยังไม่ถูกพัฒนา ซึ่งนั่นก็คือ การทำหน้าที่ลำดับ 3 (Tertiary Function) และการทำหน้าที่ลำดับ 4 (Inferior Function) การทำหน้าที่ลำดับที่ 3 และ 4 ของ ISFP ก็คือ Introverted Intuition และ Extraverted Thinking ตามลำดับ
- ฝึกให้มีความอดทนมากขึ้นกับนโยบายหรือขั้นตอน/แผนการปฏิบัติของระบบใดระบบหนึ่ง
- คิดเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการกระทำในปัจจุบันที่จะส่งผลไปยังอนาคต
- รู้จักเตรียมความพร้อมให้เพียงพอ โดยเฉพาะกับงานที่สำคัญมากๆหรือการมีประชุม
- รู้จักรับและให้การตอบกลับในเชิงลบอย่างสร้างสรรค์
- ลองใช้ความเป็นเหตุเป็นผลและข้อเท็จจริงเป็นเกณฑ์ในตอนที่ทำการตัดสินใจดูบ้าง
- ตั้งเป้าหมาย แล้วก็ตั้งใจทำ ปฏิบัติตามมันให้ได้
- ลองมองสิ่งต่างๆในภาพรวมดูบ้าง แล้วค่อยเจาะลึกไปที่รายละเอียด
- อย่าคาดหวังในตัวผู้อื่นมากเกินไป เพราะคุณจะรู้สึกแย่มากและผิดหวังมากๆถ้าคนๆนั้นทำอะไรอย่างที่คุณคาดหวังไม่ได้
- ยิ้มให้กับคำวิพากษ์วิจารณ์ รับฟังความคิดจากผู้อื่น เพราะทุกๆคนไม่ได้คิดหรือมีจุดยืนแบบเดียวกันหมด ยังมี MBTI อีก 15 แบบซึ่งแตกต่างจากคุณไปหมด
- รู้จักเข้าสังคม, ติดต่อ และพูดคุยกับคนรู้จักและคนรอบข้างให้มากขึ้น
ช่วงอายุ 30 ปีถึงวัยกลางคน : การพัฒนาของ Introverted Intuition
ISFP จะเริ่มรู้สึกถึงความกังวลหรือความเครียดและจะนำพาไปสู่การพัฒนาการทำหน้าที่ลำดับ 3 (Tertiary Function) แบบ Introverted Intuition ในช่วงหลังจากอายุ 30 ปี
พวกเขาจะเริ่มใช้ภาษาที่อธิบายถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เริ่มใช้แนวคิดและไอเดียในเชิงนามธรรมในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังเริ่มจะวางแผนและกำหนดเป้าหมายในระยะยาวให้มากขึ้น
ISFP สามารถพัฒนาการทำหน้าที่แบบ Introverted Intuition เพิ่มเติมด้วยตัวเองโดยการฝึกการกระทำต่อไปนี้
- เข้าร่วมการเรียนรู้เพื่อฝึกการทำสมาธิหรือไม่ก็ลองหลับตาแล้วจินตนาการถึงอะไรบางอย่าง ลองหาความหมายที่ลึกซึ้งของสิ่งๆนั้นดู
- หาหนังสือนิตยสารหรืออ่านข่าวที่เกี่ยวกับรอบโลกมาอ่าน จากนั้นดูกระแสนิยมของประเทศต่างๆ แล้วก็นำมันมาเปรียบเทียบกันดูว่ามีอันไหนที่สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้มั้ย
- เขียนบทกวีเกี่ยวกับบางสิ่งที่มาจากธรรมชาติ พยายามอย่าเขียนโดยใช้ลักษณะทางกายภาพเป็นคำอธิบาย (เช่น สี, รูปร่าง, ขนาด) นี่ก็เพราะเรากำลังฝึกไม่ใช้ประสาทสัมผัสอยู่ แต่พึ่งสัญชาตญาณแทน
ช่วงวัยกลางคนขึ้นไป : การพัฒนาของ Extraverted Thinking
ช่วงตั้งแต่วัยกลางคน ISFP จะเริ่มการพัฒนาของการทำหน้าที่ลำดับ 4 (Inferior Function) แบบ Extraverted Thinking
การทำหน้าที่แบบ Extraverted Thinking นี้เคยถูกปรากฎมาแล้วก่อนที่ ISFP จะเริ่มพัฒนามันจริงๆจังๆ แต่มันมาในช่วงวัยเด็กและมาในฐานะของการทำหน้าที่ที่ยังไม่ถูกพัฒนา เพราะฉะนั้นแล้วมันจึงส่งผลลัพธ์ในทางที่ผิดๆ เมื่ออยู่ในภาวะที่เครียด การทำหน้าที่อันนี้จะทำให้ ISFP รู้สึกสงสัยและไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงวัยกลางคน พวกเขาจะมีการเปลี่ยนแปลงและความต้องการในการเริ่มพัฒนาการทำหน้าที่ลำดับ 4 ของตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะเติมเต็มความเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จริงๆแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอึดอัดแต่ก็จำเป็นในการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
นี่คือตัวอย่างการกระทำที่จะช่วยพัฒนาการทำหน้าที่แบบ Extraverted Thinking ขึ้นไปอีก
- ฝึกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยการใช้ข้อเท็จจริงต่างๆที่อยู่รอบตัวคุณ ใช้การอธิบายความคิดของคุณแบบมีเหตุผล โดยที่ห้ามนำอารมณ์หรือค่านิยมมาเกี่ยวข้อง
- ในเวลาที่จะซื้อของ ให้คุณนำเอารายละเอียดของสินค้าแบรนด์ต่างๆมาเปรียบเทียบกัน โดยใช้รายละเอียดความแตกต่างของแต่ละอันเป็นตัวตัดสินหาอันที่ดีที่สุด อย่าใช้สิ่งที่คุณคิดไปเองหรือรู้สึกไปเองมาช่วย
- เมื่อใดที่ได้รับงานมา ให้คุณมุ่งไปที่การทำงานเลยทันที คิดในเชิงเหตุผลว่าอะไรที่ควรจะต้องทำ งานถึงจะออกมาดีที่สุดในทางที่ง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยทั้งหมดนี้ คุณต้องใช้การคิดโดยอาศัยข้อเท็จจริงทางรูปธรรมมาช่วยเท่านั้น